บันทึก Osaka marathon ที่ผ่านเรื่องราวมากมายกว่า 5 เดือน เพราะจุดสตาร์ทของมาราธอนไม่ได้เริ่มต้นจากจุดปล่อยตัวกิโลที่ศูนย์ แต่เริ่มต้นเมื่อใครสักคนมีความตั้งใจ และมาราธอนที่เปลี่ยนชีวิตผู้คน มักมีเรื่องราวที่น่าสนใจเสมอ
Table of Contents
ทำไมถึงต้อง Osaka marathon
ตัวผมเองที่ชื่นชอบวัฒนธรรมญี่ปุ่นเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว การได้ไปวิ่งที่ประเทศญี่ปุ่นสักงานจึงเป็นหมุดหมายที่นักวิ่งเนิร์ดๆ คนหนึ่งใฝ่ฝันว่าจะได้ไปผ่านเส้นชัยสักครั้งในที่แห่งนั้น ที่ไหนก็ได้ งานไหนก็ดี
Osaka marathon ถึงแม้จะไม่ได้เป็นงานวิ่งระดับ World Major Marathon แต่ก็ถือว่าเป็นงานวิ่งเล่นใหญ่ของญี่ปุ่น แบบว่าน้องๆ Tokyo marathon เลยทีเดียว เส้นทางสวยงาม กองเชียร์หลักล้านคนอัดแน่นตลอดเส้นทาง การจัดการระดับโลก อุณหภูมิที่เหมาะสมในช่วงต้นเดือนธันวาคม ทุกอย่างช่างดูดีไปหมด
การสมัคร Osaka marathon
ไม่ใช่ว่าอยากลงแข่งขันก็สมัครได้เลย งานใหญ่โตอย่าง Osaka marathon เค้าใช้ระบบ lotto หรือการสุ่มนักวิ่งแบบเดี๋ยวกับ Tokyo matarhon ใครอยากไปก็กรอกฟอร์มสมัครบนเว็บทิ้งเอาไว้ หลังจากนั้นหนึ่งเดือนจะมีเมลมาแจ้งเตือนสถานะการสมัครอีกครั้ง ในปี 2019 เค้ารับนักวิ่งทั้งหมดจำนวน 32,000 คน ในระยะ Marathon มีผู้สมัครประมาณ 100,000 คน โอกาสที่ได้ประมาณ 1 ใน 3 นั่นเอง ผมก็ไปหย่อนเอาไว้สักหน่อย เผื่อฟลุ๊ค
ผ่านไปเดือนกว่าก็มีอีเมลแจ้งเข้ามาว่าผมได้เป็นหนึ่งในนักวิ่งที่จะได้ไป Osaka marathon ถ้ามีเงินพอที่จะจ่ายค่าเข้างาน ตั๋วเครื่องบิน และอื่นๆ อีกมากมาย ในความดีใจก็มีมือสั่นตอนกดจ่ายเงินเพื่อยืนสิทธิ์เหมือนกันครับ เป็นงานวิ่งที่แพงที่สุดในชีวิต ตอนนั้นจำได้ว่าประมาณ 10,000 บาท แต่ก็จ่ายไปครับ โดยใช้ข้อสุดคลาสสิคว่า ‘ครั้งหนึ่งในชีวิต’
โชคดีมากที่ครั้งนี้มีเพื่อนนักวิ่งได้รับสิทธิ์และมีเงินจ่ายค่าวิ่งเหมือนกัน เป็นเพื่อนที่ไปวิ่งต่างจังหวัดด้วยกันหลายครั้ง ชื่อไอ้โบ้ท เอ้ยๆๆ คุณโบ้ท เลยไม่เหงาและช่วยกันจัดการวางแผนทริปนั่นโน่นนี่
SUB 4 คือเป้าหมายในการวิ่งครั้งนี้
มาราธอนงานใหญ่ในญี่ปุ่นทั้งที ไม่ได้มีบ่อยๆ จริงไหมครับ ผมเป็นคนที่ซีเรียสเรื่องการวางแผนวิ่งมาก ครั้งนี้ก็มีทางแยกในใจสองแบบ คือ วิ่งเล่นชมวิวสนุกสนานกับกองเชียร์ หรือ วิ่งทำเวลามาราธอนให้ดีที่สุด (new personal best)
ด้วยสภาพแวดล้อมที่เพอร์เฟ็กทั้งเส้นทาง การจัดการ อุณหภูมิ ระยะเวลาในการฝึกซ้อม และแรงบันดาลใจ ผมจึงเลือกที่จะลองทำ New PB จากต้นปีที่วิ่งมาราธอนอยู่ในเวลาประมาณ 4.15 ชั่วโมง จึงเป็นโอกาสที่ดีในการที่ตั้งเป้าหมายครั้งนี้เป็น SUB 4.00 หรือการจบมาราธอนด้วยเวลาที่ต่ำกว่า 4 ชั่วโมงนั่นเอง
สำหรับผมในตอนนั้นเป็นเป้าหมายที่ค่อนข้างท้าทาย ในขณะที่ก็ยังพอเห็นความเป็นไปได้ หากเชื่อมั่น มุ่งมั่น ขยันฝึกซ้อม มาราธอนจะต้องโอบกอดผมอย่างสวยงามแน่นอน
ข้อมูลงาน Osaka marathon 2019
Osaka marathon เป็นงานวิ่งที่จัดในเมืองโอซาก้าประเทศญี่ปุ่น (ก็แหงสิวะ) วิ่งในวันที่ 1 ธันวาคม 2019 งานนี้จัดขึ้นครั้งแรกในปี 2010 ซึ่งถือว่าเป็นงานที่ใหม่ประมาณหนึ่งเหมือนกันนะ ช่วงนั้นอุณหภูมิเฉลี่ยประมาณ 10 องศา ซึ่งเป็นอุณหภูมิที่เหมาะสมสำหรับการวิ่งมาราธอนอย่างมาก เป็นโอกาสดีสำหรับการทำ personal best
สำหรับเส้นทางโดยปกติแล้วเส้นทางวิ่งจะเป็นแบบ point to point คือออกตัวจากปราสาทโอซก้าแล้วไปเข้าเส้นชัยที่ Nankohigashi แต่ในปี 2019 มีการเปลี่ยนเส้นทางใหม่ โดยเริ่มจากตัวจากปราสาทโอซก้าเหมือนเดิม แล้วไปจบที่อีกด้านหนึ่งของตัวปราสาท ซึ่งผมก็ชอบแบบนี้มากกว่านะ วางแผนการเดินทางและที่พักง่ายดี
มีการปิดถนนเส้นหลัก 100% ไม่มีรถวิ่งสวน มีกั้นจุดสำหรับกองเชียร์ที่มาต้อนรับนักวิ่ง ซึ่งเมื่องานใหญ่ระดับประเทศก็จะมีกองเชียร์ที่มาจับจองพื้นที่กันข้ามวันเพื่อให้ได้จุดชมนักวิ่งที่ดีที่สุด รวมทั้งองค์กรต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชนในพื้นที่บริเวณนั้นก็มีการตั้งเวที จัดการแสดงเพื่อตอนรับนักวิ่งอย่างอบอุ่น
นี่คือ Logo ของงาน Osaka marathon โลโก้ของงานมองได้ 3 ภาษา
- ภาษาจีน 走 อ่านว่า โจ่ว = ไป มุ่งไป
- ภาษาญี่ปุ่น เป็นตัวคันจิ 走る はしる อ่านว่า Hashiru = วิ่ง
- ภาษาภาพ เป็นคนกำลังวิ่ง
วาดด้วยเส้นตวัดจากสีทั้งหมด 7 สี ซึ่งเป็นตีมงานของ Osaka marathon เป็นสัญลักษณ์การร่วมกันจัดงานระหว่าง Organizer และ Sponsor ของงาน ตัวอักษรภาษาจีนสองบรรทัดข้างๆ แปลแบบตรงๆ บรรทัดบนคือ หมายเลขที่สมัคร (Registration number) และบรรทัดล่างคือ เมือง : โอซาก้าและชื่องานที่ถูกต้องเขียนแบบนี้ “Osaka marathon”
ตีมของงานคือ Making Rainbow Yogether มาร่วมกันสร้างสายรุ้งด้วยกัน โดยตอนจ่ายเงินเค้าจะมีให้เลือกสี 7 สี แต่ละสีจะมีความหมายต่างกัน สำหรับผมเลือกสีแดงที่มีความหมายว่า to support your hopes to live – วิ่งเพื่อความหวังในการใช้ชีวิต
ระยะเวลา 5 เดือนการเตรียมตัว
หลังจากทราบการประกาศว่าได้สิทธิ์เข้าร่วมงาน นับเวลาต่อจากนี้มีเวลา 5 เดือนสำหรับฝึกซ้อม ถ้าถามว่าเวลา 5 เดือนมากหรือน้อย สำหรับผมถือว่ากำลังพอดี ระยะเวลาในการที่นักวิ่งคนหนึ่งเริ่มตั้งเป้าหมายในการฝึกซ้อมระยะมาราธอนครั้งแรกจะอยู่ที่ประมาณ 6-12 เดือน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับพื้นฐานร่างกายและเป้าหมายการวิ่งของแต่ละคน
โดยปกติแล้วแผนการซ้อมมาราธอนของแต่ละคนจะไม่เหมือนกัน ต่อให้เป้าหมายเป็นเวลา 4 ชั่วโมงก็ตาม ยังมีปัจจัยอื่นมากมายที่ต้องคำนึงถึง เช่น สภาพร่างกาย เวลาในการฝึกซ้อม การพักผ่อน ภาระหน้าที่การงาน ทุกคนสามารถ Google หาแผนการซ้อมมาราธอนได้ง่ายมาก แต่ทุกคนก็ต้องนำมาปรับเพื่อให้เข้ากับตัวเองอยู่ดี
ทุกคนทราบดีว่ามาราธอนเป็นเรื่องของการสะสมการฝึกซ้อม เป็นกีฬาที่บอกได้เลยว่าไม่มีคำว่าฟลุ๊ค คุณซ้อมแค่ไหน คุณก็ทำได้แค่นั้น มาราธอนจะเป็นอย่างนั้นเลย สำหรับผมเองจะเน้นการซ้อมยาวในระยะตั้งแต่ 30km ขึ้นไป เอาตามตำราคือควรซ้อม 30km ขึ้นไปอย่างน้อย 3 ครั้งให้ได้ก่อนไปมาราธอน เป็นหลักปฏิบัติที่ผมยึดถือตั้งแต่การซ้อมมาราธอนแรก
หากตั้งเป้าหมายด้วยเวลา SUB 4 ความเร็วในการวิ่งจะอยู่ที่ประมาณ pace 5.30 เผื่อเหลือเผื่อขาด ธงการซ้อมที่ผมปักเอาไว้คือต้องวิ่งด้วยความเร็วนี้เกินระยะ 30km ให้ได้อย่างน้อยสัก 5 ครั้ง ก่อนที่จะลงสนามจริง
การตั้งเป้าหมายนั้นง่าย แต่การลงมือทำนั้นต้องใช้พลังอย่างมาก หลายคนเคยได้ยินว่ามาราธอนจะทำให้ชีวิตคุณเปลี่ยนไป แต่จุดที่จะทำให้ชีวิตเปลี่ยนนั้น ไม่ใช่ว่าคุณวิ่งผ่านเส้นชัยปุ๊ป โอ้โห คุณเป็นคนใหม่ในเสี้ยววินาทีนั้นทันที ไม่ใช่ครับ
จุดสตาร์ทของคุณจะอยู่ที่วันที่คุณตัดสินใจลงวิ่งมาราธอน นั่นเป็นก้าวแรกที่คุณเริ่มวิ่ง คุณจะต้องมีวินัยที่เข้มแข็ง ทั้งการฝึกซ้อม การรับประทานอาหาร การพักผ่อน โดยเฉพาะการซ้อมยาวที่ก่อนถึงระยะเป้าหมายร่างกายของคุณจะแตกร้าวและพยายามบอกว่า หยุดเถอะ วิ่งแค่นี้ก็เก่งแล้ว พอได้แล้ว คุณต้องเจอกับเสียงในหัวซ้ำแล้วซ้ำเล่า
คุณต่อสู้กับมันและเอาชนะมันในทุกครั้งที่คุณซ้อม คุณมีวินัยมากขึ้น รูปร่างคุณเริ่มมีการเปลี่ยนแปลง การหายใจของคุณดีขึ้น กล้ามเนื้อของคุณดีขึ้น คุณเอาชนะเสียงในหัวที่บอกให้หยุดได้ในทุกครั้ง สิ่งนี้แหละที่ทำให้ชีวิตคุณค่อยๆ เปลี่ยนแปลงไปทีละน้อย หากคุณทำได้อย่างสม่ำเสมอ จนคุณสามารถไปยืนหน้าจุดสตาร์ทวันแข่งได้ แม้ยังไม่ออกวิ่งในงานสักก้าวเดียว แต่คุณนั้นเป็นคนใหม่เรียบร้อยแล้ว จากนั้นคุณจงเต้นรำอย่างมีความสุขในระยะทาง 42.195 กิโลเมตรได้เลย
การซ้อมของผมจะเน้นไปที่ระยะไกล หรือเกิน 12km ขึ้นไปเป็นพื้นฐาน เน้นลงงานวิ่ง 21km เพื่อสร้างความแข็งแรงในการยืนระยะ โฟกัสความเร็ว pace 5.30 ให้อัตราการเต้นของหัวใจอยู่ที่ให้ได้เฉลี่ย 150bpm และยืนระยะได้นาน นั่นคือความพร้อมสำหรับตัวผม ซึ่งเป็นตัวเลขในโซนหัวใจสำหรับการแข่งมาราธอน หากมากกว่านี้ตัวผมเองจะยืนระยะได้ไม่นาน เพราะร่างกายจะเริ่มเผาพลังงานด้วยสัดส่วนของไกลโคเจนแทนที่จะเป็นไขมัน ซึ่งอันนี้เป็นตัวเลขส่วนบุคคลนะครับ ลองศึกษาเพิ่มเติมเกี่ยวกับโซนหัวใจและการใช้พลังงาน
การเตรียมอุปกรณ์วิ่ง
การวิ่งที่อยู่ในสนามเป็นเวลา 4-5 ชั่วโมง ไม่ใช่ว่าเราจะใส่เสื้อผ้าอะไรก็ได้ การที่เสื้อผ้าเสียดสีผิวหนัง การที่ถุงเท้าอมน้ำ หรือรองเท้าที่ทำให้คุณนิ้วพอง อาจทำให้คุณวิ่งไม่จบเลยก็เป็นได้ ซึ่งผมเองก็มีปัญหาบ้างในเรื่องของเครื่องแต่งกายที่ต้องวางแผนจัดการ
รองเท้าและถุงเท้า
รองเท้าที่ผมวางแผนใช้วิ่งใน pace 5.30 ต้องเป็นรองเท้าที่ไม่ใช่ racing สำหรับแข่งวิ่งด้วยความเร็วแต่ใส่ไม่สบาย และไม่ใช่รองเท้าใส่สบายสายซัพพอร์ตที่น้ำหนักเยอะมีความเทอะทะ รองเท้าที่ตอบโจทย์ผมคือเป็นรองเท้าที่ทำความเร็วรองมาจากรองเท้า racing ซึ่งผมไปชอบ Nike Zoom Fly รุ่นที่ 2 ที่หน้าผ้าเป็น FlyKnit แต่เจ้าคู่นั้นมันก็เก่าซะแล้ว ประจวบเหมาะพอดีกับ Nike Zoom Fly รุ่น 3 วางจำหน่ายพอดี แต่หน้าผ้าเปลี่ยนเป็นอีกแบบซึ่งหนาและผมไม่ชอบ
ทางออกของผมคือการใช้บริการ Niky By You ที่เราสามารถ custom ส่วนต่างๆ ของรองเท้าได้ตามใจชอบ จึงสั่ง Nike Zoom Fly 3 แต่ปรับหน้าผ้าเป็น FlyKnit ของรุ่นก่อนจึงออกมาเป็นรองเท้าที่เพอร์เฟ็กต์อย่างที่ผมต้องการ
บวกกับถุงเท้าที่เลี่ยงการใช้ผ้า cotton เพราะอมน้ำระบายอากาศ ซึ่งนอกจากทำให้อึดอัดในการวิ่งยาวแล้ว ยังทำให้เท้ามีตุ่มพองอีกด้วย เน้นใช้ถุงเท้าที่เขียนว่ามีส่วนประกอบเป็น Spandex หรือNylon จะดีกว่าอย่างมาก แต่ราคาก็จะสูงตามเช่นกัน
เสื้อผ้าเครื่องแต่งกาย
หากสังเกตุตามงานวิ่ง นักวิ่งที่มีประสบการณ์มักจะเลี่ยงการใส่เสื้อของงาน แต่เลือกใส่เสื้อที่ใช้เป็นประจำแทน คงไม่ดีแน่หากใส่เสื้อที่เราไม่คุ้นเคยแล้วมีปัญหาในงานแข่ง เสื้อที่ใส่จำเป็นต้องพามันใส่ซ้อมยาวเกิน 30km ให้แน่ใจว่าไม่มีปัญหาตะเข็บบาดหรือบาดหัวนม เช่นเดียวกับกางเกงวิ่ง หากใครที่เป็นคนเหงื่อเยอะแล้วมีปัญหาเหงื่อไหลจนรองเท้าเปียก พวกกางเกงวิ่งรัดรูปเนื้อผ้าดีๆ ช่วยได้เยอะครับ แนะนำยี่ห้อ Kalenji ซื้อได้ที่ร้าน Decathlon ราคาไม่แพงด้วยครับ
บรรยากาศงาน Expo รับ BIB เดินช็อปสุดเพลิน
ตัดตอนมางาน Expo อย่างรวดเร็วก่อนที่บทความจะยาวไปกว่านี้ 5555
ก่อนการแข่งขัน ทางผู้จัดจะให้นักวิ่งไปรับ BIB หรือเบอร์วิ่งด้วยตัวเองที่บริเวณปราสาทโอซาก้า 3 วันก่อนถึงวันแข่งซึ่งก็เป็นโอกาสดีที่นั่งวิ่งจะได้เดินสำรวจบริเวณจุดปล่อยตัวก่อนด้วยเช่นกัน เราแนะนำอย่างมากให้รับในวันธรรมดาถ้าเป็นไปได้ เพราะวันเสาร์คนเยอะต่างจากวันศุกร์อย่างมาก
ภายในงานก็มีกระบวนการจัดคิวอย่างดี ใช้เวลาแค่ 10 นาทีตั้งแต่เริ่มเข้าแถวจนถึงรับเบอร์วิ่ง แต่ถ้าเป็นวันหยุดคิวจะยาวมาก น่าจะใช้เวลาเกือบชั่วโมงเลยทีเดียว เผื่อเวลากันไว้ด้วยครับ
นอกจากส่วนของรับ BIB แล้ว ก็จะมีงาน Expo ที่มีขายสินค้าเสื้อวิ่ง รองเท้าวิ่ง ของที่ระลึก การจัดแสดงนวัตรกรรม หลายบริษัทก็มาออกบูธ มีบริษัททัวร์เมืองไทยออกบูธทำเป็นทริปวิ่งที่ประเทศไทยด้วย ใครมีงบก็สามารถไปละลายที่งานได้เลยครับ เสื้อวิ่ง ผ้าบัฟ ของต่างๆ สวยงามน่าสะสมหรือซื้อเป็นของฝากอย่างมาก
สต๊าฟส่วนหนึ่งของงานจะมาจากอาสาสมัครที่เต็มใจมาช่วยงาน ส่วนมากจะเป็นนักเรียนนักศึกษา มีป้ายที่เขียนคำให้กำลังใจจากอาสาสมัครด้วยครับ ภาษาญี่ปุ่นบ้าง ภาษาอังกฤษบ้าง ภาษาไทยก็มีด้วยนะครับ ผมเห็นว่ามีอาสาสมัครคนไทยด้วย น่ารักมาก made my day สุดๆ
Race Day – วันแข่งขันที่สดใส
วันแข่งขันเป็นอีกหนึ่งวันที่ต้องวางแผนและเผื่อเวลาให้ดี นักวิ่งทุกคนจะมี block ปล่อยตัว ซึ่งจะมีหลายตำแหน่งและเวลาปล่อยตัวจะต่างกันออกไป และจากหน้าปราสาทกว่าจะเดินเข้าไปถึง block ได้ อาจใช้เวลาถึง 30 นาทีเลยทีเดียว ซึ่งแผนที่งานดูไม่ยาก ระหว่างทางมีป้ายบอกชัดเจน ไม่ต้องห่วงเรื่องหลงทาง
ใครที่ต้องการฝากของก็สามารถใส่ถุงที่เค้าให้มาได้เลย จะเป็นถุงซิปล็อคขนาดใหญ่มาก ใหญ่สัสๆ จะมีรหัสอยู่บนถุงแล้วนำไปฝากไว้กับอาสาสมัครตามจุดของหมายเลขเรา
ระหว่างทางที่เดินในปราสาทโอซาก้าเพื่อไปจุดปล่อยตัว จะมีห้องน้ำที่มีคิวยาวมาก ยาวสัสๆ ยาวจนกูท้อออออ แต่โชคดีที่จุดปล่อยตัวทุกจุดเค้าจะมีห้องน้ำแบบเฉพาะกิจที่ตั้งขึ้นมาสำหรับนักวิ่งโดยเฉพาะ ให้เดินไปบริเวณ block ปล่อยตัวแล้วค่อยทำธุระแถวนั้นได้เช่นกัน แต่คิวก็ยาวประมาณหนึ่งเหมือนกันนะ
หลังจากทำธุระเสร็จเราก็จะเข้า block เพื่อรอปล่อยตัวตามเวลา ในช่วงแรกจังหวะการวิ่งจะไปกันอย่างช้าๆ อาจต้องค่อยๆ ไหลไปกับกลุ่มนักวิ่งไปสักระยะถึงจะหลุดกลุ่มแล้วค่อยทำเวลาได้
อากาศในช่วงนั้นประมาณ 10 องศา จะรู้สึกหนาวอย่างมากในขณะที่รอปล่อยตัว แต่หลังจากได้ออกวิ่งอากาศถือว่ากำลังดีมาก หากต้องการทำเวลาผมไม่แนะนำให้ใส่อุปกรณ์กันความหนาวอย่างเสื้อหนาๆ หรือถุงมือนะครับ เพราะสุดท้ายแล้วจะเป็นภาระขณะวิ่งมากกว่า อย่างผมเองก็ถอดถุงมือทิ้งเหมือนกัน
ระหว่างทางวิ่งจะมีห้องน้ำอยู่หลายจุดนะครับ แต่เค้าจะตั้งอยู่บริเวณนอกเส้นทาง คือต้องวิ่งฉีกออกจากสนามไปเล็กน้อยเพื่อแวะเข้าห้องน้ำ ซึ่งใช้เวลาพอสมควรเหมือนกัน ควรวางแผนความเร็วการวิ่งเผื่อไว้สำหรับการเข้าห้องน้ำด้วย
กองเชียร์สองข้างทางเร้าใจสุดๆ
เสน่ห์อย่างหนึ่งที่นักวิ่งทุกคนต้องรัก คือสองข้างทางจะมีกองเชียร์แน่นตลอดทาง เราจะได้ยินเสียงตะโกน ‘กัมบัตเตะ’ หรือแปลว่า ‘สู้ๆ นะ’ ดังอยู่ตลอดทางแบบไม่ขาดเลย รอยยิ้ม เสียงหัวเราะ ดูกองเชียร์อาจจะสนุกหรือเหนื่อยยิ่งกว่านักวิ่งอีกแหะ บางคนก็ทำขนม ข้าวปั้น เป็นคำเล็กๆ ยื่นให้นักวิ่งผมก็รับมาบ้าง 2-3 ครั้ง ถึงแม้การวิ่งไปทานข้าวปั้นไปอาจจะไม่สะดวกนัก แต่ก็เป็นข้าวปั้นที่ทำให้เราใจฟูมาก
กองเชียร์ตลอดระยะทางเห็นว่ามีจำนวนกว่าล้านคน เหมือนปิดโอซาก้าทั้งเมืองมาเชียร์นักวิ่งกัน ซึ่งเป็นแรงใจอย่างดีมากสำหรับการวิ่งมาราธอน คุณจะรักเมืองและผู้คนในประเทศญี่ปุ่นอย่างมาก
ซ้อมแค่ไหนก็ได้เท่านั้น
มาราธอนไม่เคยเป็นเรื่องของโชค หากแต่ต้นทุนของร่างกายเกิดจากการฝึกซ้อมเท่านั้น ระยะวิ่งหลังจากกิโลที่ 30 เปรียบเหมือนเส้นทางวัดใจ ร่างกายของคุณจะอ่อนล้าสะสมเป็นเวลานาน ไกลโคเจนในร่างกายถูกใช้จนเกือบหมด หากมีอาการบาดเจ็บหรือตะคริวร่วมวงเข้ามาแจมด้วย คุณอาจจะต้องตัดสินใจบางอย่าง
ตัวผมเองในขณะที่ซ้อมระยะ 32km รู้สึกเลยว่าร่างกายมาได้แค่นี้หากวิ่งด้วย pace เป้าหมายเพื่อทำเวลาให้ต่ำกว่า 4.00 ชั่วโมง เกินกว่านี้ผมจะต้องใช้กำลังใจอย่างมากในการผ่านไปให้ถึงเส้นชัย ประเมินตัวเองจากสภาพร่างกายก่อนออกวิ่งว่าเราจะไหวถึงแค่ 35km แน่ๆ
แล้วก็เป็นเช่นนั้นจริง ผมพาตัวเองมาถึงกิโลเมตรที่ 36 ร่างกายอ่อนล้าอย่างมาก กล้ามเนื้อต้นขาขวาเริ่มมีอาการปวดเมื่อยอย่างรุนแรงหลังจากผ่านการใช้งานมาเกินกว่า 3 ชั่วโมง ผมเหลือบมองนาฬิกาวิ่งในตอนนั้น พบว่า pace อยู่ที่ 5.20 ผมยังมีเวลาเหลือให้อู้นิดหน่อย จึงเริ่มปรับความเร็วลดลง แล้วประคองตัวเองให้ถึงเส้นชัยให้ได้
ในระหว่างทางที่ผ่านไปหลัง 36km ผมพบว่ามีนั่งวิ่งหลายคนเริ่มหยุดเดิน ลดจังหวะการวิ่งลง ซึ่งเป็นภาพที่ปกติหากคุณวิ่งมาราธอนมาจนถึงจุดนี้ การซ้อมจะบอกคุณได้เลยว่าเมื่อเดินทางมาถึงจุดนี้ภาพของคุณจะกำลังทำอะไรอยู่
เส้นชัยที่มีน้ำตา
ถึงแม้กล้ามเนื้อขาของผมจะเริ่มออกอาการ หรือหากอยู่ผิดท่าแม้แต่นิดเดียวตะคริวจะเข้ามาเล่นงานทันที และด้วยความกดดันของเป้าหมาย ผมไม่อยากหยุดอยู่ตรงนี้ ผมวิ่งสลับเดินโดยไม่ให้ความเร็วตกมากนัก pace เฉลี่ยถอยลงไปอยู่ที่ 5.25 ซึ่งยังคงอยู่ในเป้าหมายที่จะจบภายใน 4.00 ชั่วโมง หากไม่ตกไปจนช้ากว่า pace 5.40
ใน 2km สุดท้ายผมหลับหูหลับตาวิ่งแบบไม่หยุดเดิน การจินตนาการถึงเส้ยชัยทำให้ลืมความเจ็บปวดของขาขวาไปได้ชั่วคราว โค้งสุดท้ายก่อนเข้าเส้นชัยผมเร่งความเร็วให้มากขึ้น เพราะทุกวินาทีที่ลดลงไปได้คือสถิติใหม่อย่างแน่นอน
เสียงเชียร์ของพิธีกรบริเวณเส้นชัยดังชัดขึ้นเรื่อยๆ (ถึงแม้จะฟังเค้าไม่ออก) ภาพซุ้มเส้นชัยค่อยๆ ปรากฏต่อหน้า ผม sprint เข้าเส้นชัยจบด้วยเวลา 3 ชั่วโมง 52 นาที
ผมทำได้ ผมทำได้ ผมทำได้
ผมกลั้นน้ำตาเอาไว้ไม่อยู่ เส้นชัยของมาราธอนตอบรับความพยายามของผมแล้ว SUB 4.00 ของนักวิ่งตัวเล็กๆ คนหนึ่ง ที่ย้อนไปสัก 2-3 ปี เป็นสถิติที่ไม่มีทางเป็นได้เลยในตอนนั้น แต่เป้าหมาย ความเชื่อ และการฝึกซ้อม ค่อยๆ ทำลายกำแพงของคำว่าเป็นไปไม่ได้ลงไปทีละน้อยจนมันจางหายไป
เส้นชัยของ Osaka marathon คนที่เข้าเส้นชัยจะหันหลังกลับ โค้งคำนับให้กับสนาม และเงยหน้าปาดน้ำตา จากนั้นอาสาสมัครทุกคนจะต้อนรับ finisher ทุกคนอย่างอบอุ่น
สรุปทริปงานวิ่ง Osaka Marathon 2019
- การจัดการดีมาก สมกับเป็นงานระดับประเทศ ตั้งแต่การสมัคร รับเบอร์วิ่ง เข้า block ฝากของ จนวิ่งถึงเส้นชัย ทุกอย่างลื่นไหลไม่มีติดขัดเลย
- อากาศดีมาก วิ่งสบาย มีเนินขึ้นลงที่อาจทำให้ท้อใจอยู่บ้างแต่ก็ไม่เป็นอุปสรรคมากนัก
- สิ่งที่ประทับใจที่สุดคือวัฒนธรรมของคนญี่ปุ่นที่ชื่นชอบการวิ่งอย่างมาก ไม่ใช่แค่นักวิ่ง แต่ทั้งกองเชียร์ อาสาสมัคร ผู้จัดงาน นักวิ่งจะรับรู้ได้เลยว่าเป็นประเทศที่อินให้ความสำคัญกับมาราธอนมาก
- หากคุณมีโอกาสได้ lotto และพอมีงบประมาณ ก็เป็นงานหนึ่งที่คุ้มค่าและแนะนำให้มาสักครั้ง
- ไม่ว่าเกิดอะไรขึ้น เราจะได้รับบทเรียนทุกครั้งเมื่อได้วิ่งมาราธอน ซึมซับและเรียนรู้กับมันให้มากที่สุด คุณจะเห็นคุณค่าและกลายเป็นคนใหม่