ประวัติศาสตร์ WordPress ตำนาน CMS ที่มี Market Share สูงที่สุดในโลก

WordPress เป็น open source CMS (Content Management System) บน website platform ที่ได้รับความนิยมสูงมาก การเดินทางกว่า 20 ปี ของ WordPress เองก็เป็นเรื่องราวที่สร้างแรงบัลดาลใจ และมีความน่าสนใจมากพอที่จะทำให้รอยหยักในสมองเริ่มยุกยิก


ตำนานที่เกิดจากการโดนเท

ย้อนกลับไปเมื่อปี 2003 ชายที่ชื่อว่า Matt Mullenweg ที่ในตอนนั้นเค้าเป็นนักศึกษาอายุ 18 ปี มนุษย์ geek คนหนึ่งที่ชอบเขียนโปรแกรม ถ่ายรูป และเล่าเรื่องราวลง blog ส่วนตัว ตอนนั้นเค้าใช้ platform ชื่อว่า b2/cafelog ในการเขียนอัปเดตเรื่องราวในชีวิต

b2 เป็น online blog service เจ้าหนึ่ง (นึกภาพประมาณ exteen ถ้าคุณเกิดทัน…) พัฒนาโดยคุณ Michel Valdrighi โปรแกรมเมอร์ชาวฝรั่งเศส เมื่อปี 2021 แต่อยู่มาวันหนึ่ง b2 ก็หยุดพัฒนาไปเฉยๆ ซึ่งทำให้ Matt เสียดายเป็นอย่างมาก แล้วเค้าก็เกิดความกังวลว่าจะไม่มีพื้นที่ในการเขียน blog

แต่พอดีว่า b2/cafelog มี license เป็น GPL นั่นหมายความว่า Matt ใครก็สามารถนำโค้ดของโปรแกรมดังกล่าว fork มาต่อยอดได้ Matt จึงเริ่มสานต่อโปรเจคในรูปแบบที่เขาต้องการทันที

(fork ที่ว่านี่เป็นศัพท์ในวงการ software developer ประมาณว่า duplicate project แล้วนำมาพัฒนาต่อในรูปแบบของตัวเอง)

วันที่ 1 เมษายน 2003 Matt เริ่มทำการ fork b2 และนำโปรเจ็คไปวางไว้บน Sourceforge (เว็บไซต์ community ของ developer ยุคบุกเบิก) เหล่านี้จึงเป็นที่มาของการร่วมกันพัฒนา WordPress ที่คุณและผมใช้กันอยู่ในปัจจุบัน หากใครสนใจที่มาของตำนานนี้ ปัจจุบันโพสต์ของ Matt และคอมเมนต์ของ Mike ก็ยังอยู่เป็น digital footprint สามารถเข้าไปชมได้ที่ The Blogging Software Dilemma

WordPress is a semantic personal publishing platform with a focus on aesthetics, web standards and usability.

– Matt Mullenweg

ผ่านไปเพียงไม่กี่วัน contributer คนแรกก็ปรากฏตัว Mike Little เห็นไอเดียของ Matt จาก blog แล้วเกิดความสนใจ พร้อมกับชวนคนใน community อีก 1-2 มาช่วยกันทำ


ที่มาของชื่อ WordPress WordPress!

ผู้คนสงสัย ฉันก็สงสัย เดิมชื่อ b2 แล้ว WordPress มายังไงนิ? คืออย่างนี้ ตอนแรกที่ Matt กับ Mike เริ่ม fork b2 มาทำ เค้าตั้งชื่อว่า b2++ เพื่อที่จะบอกว่าโปรแกรมนี้พัฒนามาจาก b2 codebase แล้วสมัยนั้นคิดไรไม่ออกก็ใส่ plus plus อ่ะครับ ช่วงนั้นภาษา C++ ได้รับความนิยมด้วย ด้วยความ geek ทำงานด้วยกันก็เลยออกมาทรงนี้

ถัดจากนั้นมาไม่นาน Christine Selleck เพื่อนของ Matt เอ่อ กูไม่ไหวล่ะ พวกเอ็งลดความ geek ลงหน่อยเถอะวะ ขอชื่อที่มันดีขึ้นกว่านี้

เลยมีการเสนอให้เปลี่ยนชื่อ โดย Matt ชอบคำว่า “press” ที่มาจาก printing press แท่นพิมพ์ที่ใช้ผลิตหนังสือที่เป็นเครื่องมือที่ทำให้เกิดการปฏิวัติอุตสาหกรรมสิ่งพิมพ์ จึงขอให้มีคำนี้ในชื่อหน่อยละกันนะเพื่อน จากนั้นก็มีชื่อเสนอขึ้นมามากมาย ทั้ง “Pressware” และ “WordPress”

จากนั้นชื่อของ “WordPress” ก็ถูกเลือกขึ้นมา ซึ่งเป็นชื่อที่สะท้อนจุดประสงค์ของซอฟแวร์ ในฐานะ platform สำหรับการจัดการเนื้อหา และ community เค้าซีเรียสเรื่องการเขียน capital มาก หากคุณสะกดด้วย p ตัวเล็กอาจโดนตีมือได้

ผมชอบ naming ที่พยายามตั้งโดยเคารพประวัติศาสตร์สิ่งพิมพ์ อย่าง Gutenberg ที่เป็น editor รุ่นใหม่สุดอลังการของ WordPress ก็มาจากชื่อของบุคคลที่สร้างแท่นพิมพ์ เป็นการให้เกียรติและให้เครดิตกับผู้ที่เป็นคุนูปการในวงการนี้ ส่วนชื่อแต่ละเวอร์ชั่นของ WordPress เป็นชื่อเพลงแจ๊ส เนื่องจากคุณ Matt เป็นคนชอบเพลงแจ๊สระดับคลั่งไคล้นั่นเอง


การเดินทางที่สำคัญของ WordPress

ตลอดระยะเวลากว่า 20 ปี ก็มีเรื่องสำคัญมากมายที่เกิดขึ้นกับ WordPress ผมนำมาสรุป 10 ข้อที่เป็นการอัปเดตสำคัญไว้ตามนี้ครับ

ภาพ editor บน WordPress ในปี 2003

 

1. 2003: เปิดตัว WordPress 0.7 Matt Mullenweg และ Mike Little เปิดให้ดาวน์โหลด WordPress ที่เป็น blogging platform ที่ใช้ภาษา PHP และฐานข้อมูล MySQL

2. 2004: เปิดตัว WordPress 1.2 “Mingus” เป็นเวอร์ชั่นแรกที่มีการติดตั้ง plugin เข้ามาในระบบ โดยมี Hello Dolly เป็น plugin ต้นแบบที่ใช้สาธิตการใช้งานระบบ plugin ใน WordPress (ที่หลายคนมักจะงงๆ ว่าเอาไว้ทำไรวะ )

3. 2005: เปิดตัว WordPress 1.5 “Strayhorn” มาแล้วจ้าการติดตั้งระบบ theme ที่ให้ผู้ใช้ออกแบบและปรับแต่งได้อย่างอิสระมากขึ้น รวมถึงการดาวน์โหลดหน้าตาจากผู้พัฒนาอื่นมาใช้ในระบบได้

4. 2007: เปิดตัว WordPress 2.1 “Ella” ปรับปรุง editor ครั้งใหญ่ มี interface การเขียนที่ friendly มากยิ่งขึ้น เป็นจุดแข็งที่ทำให้ WordPress มาแรงแซง CMS ตัวอื่น  อ้อ… มี auto-save ด้วยนะ

5. 2008: เปิดตัว WordPress 2.5 “Brecker” มีการปรับปรุงหลังบ้านครั้งใหญ่ มี media library มี ระบบจัดการ plugin

6. 2013: เปิดตัว WordPress 3.6 “Oscar” เว็บไซต์เริ่มเข้าสู่ยุค responsive  เพิ่ม default theme สุดเท่อย่าง Twenty Thirteen ที่รองรับการใช้งานหลาย device เป็นจุดกระตุ้นให้นักพัฒนา theme เริ่มสร้าง theme ที่ responsive มากขึ้น

7. 2015: The release of WordPress 4.3 “Billie” เพิ่มฟีเจอร์บน admin interface โดยเฉพาะในส่วนของ appearance ที่มี real-time live preview พร้อมปรับแต่ง site identity เองได้มากมาย โดยไม่ต้องผ่านระบบของ theme (ที่หลายเจ้าไม่ได้อำนวยความสะดวกในการปรับแต่ง)

8. 2016: เปิดตัว WordPress 4.7 “Vaughan” เพิ่ม default theme Twenty Seventeen มีฟีเจอร์ให้ custom CSS และไฟล์อื่นๆ ใน theme ได้เลยที่หลังบ้าน WordPress admin

9. 2018: เปิดตัว WordPress 5.0 “Bebo” ประวัตศาสตร์หน้าใหม่ของ editor ที่รอคอยมานาน (นานเพราะบั๊กเยอะ) introduce Gutenberg ที่ใช้ block-based editor แทน classic editor ที่เริ่มเชยแล้วสำหรับยุคนี้

10. 2021: เปิดตัว WordPress 5.8 “Tatum” มีฟีเจอร์สำคัญคือ full-site editing ที่จากเดิมผู้ใช้จะสามารถปรับแต่งได้เฉพาะบางพื้นที่เท่านั้น พวก header, footer หรือส่วนอื่นๆ ยังต้องอาศัย coding ครั้งนี้สามารถใช้ Gutenberg ปรับได้เยอะมากขึ้น


สุดยอด Community ของ WordPress

จุดเด่นของการที่ WordPress เป็น Open Source คือทุกคนในจักรวาลสามารถดาวน์โหลดไปใช้ได้ฟรี แล้วระบบมันดีมากจนได้รับความนิยมจากทั่วโลก ที่หลายคนเอาไปใช้ทำมาหากินจนมีเงินเลี้ยงลูกเลี้ยงเมีย ผู้คนและองค์กรมากมายจึงอยากตอบแทน community โดยการเข้ามาร่วม contribute ที่มีทั้งการเพิ่มฟีเจอร์ใหม่, แก้บั๊ค, เพิ่มความปลอดภัย, แปลภาษา, สนับสนุนเงิน และอีกมากมาย

ยิ่งนานวัน ยิ่งมีผู้ใช้ WordPress community ก็ยิ่งเติบโต ผู้ใช้ WordPress ในแต่ละเมืองก็มีการพบปะพูดคุยนัดกินชาบูปิ้งย่างกัน จนกลายมาเป็นกิจกรรมอย่างเป็นทางการอย่าง WordPress Meetup การจัดงานเพื่อพบปะกัน แต่ละครั้งก็จะมีหัวข้อที่น่าสนใจหมุนเวียนกันไป ที่ประเทศไทยเองก็จัดกันเดือนละครั้งหรือตามสะดวกของ organizer

อัปสเกลใหญ่ขึ้นมาหน่อยก็เป็นระดับ city อย่าง WordCamp Bangkok, WordCamp Chiang Mai, WordCamp Tokyo ที่เป็นงานจัดกันปีละครั้ง แต่ไม่ใช่ว่าอยู่ๆ ก็จะจัดได้นะ community ใน city นั้นต้องเข้มแข็งพอ โดยมีการจัด WordPress Meetup อย่างต่อเนื่อง

หรือบียอนด์ไปกว่านั้นคือระดับภูมิภาค อย่าง WordCamp Asia ที่จัดครั้งแรกเมื่อปี 2023 เจ้าภาพที่จัดงานนี้ก็เป็น community คนไทยนี่เอง ที่ถึงแม้ตอนแรกจะตั้งใจจัดในปี 2020 แต่อย่างที่ทราบด้วย COVID-19 Era ทำให้ไม่สามารถจัดงานได้ จึงเลื่อนมาจัดกันในปี 2023 ที่ True ICONSIAM เล่นใหญ่จัด 3 วันรวดไปเลย

ใครสนใจ WordPress Community ในบ้านเราก็เชิญได้ที่ : WordPress Bangkok


ความนิยมของ WordPress ในปัจจุบัน

เออ ก็พอรู้ล่ะ ว่า WordPress ได้รับความนิยมอย่างมาก ว่าแต่ไอ้มากที่ว่านี่มันมากแค่ไหน? ลองมาดู Website Market Share กัน

ข้อมูลจาก kinsta.com/wordpress-market-share

 

ในภาพเราจะพอเห็นภาพรวม ว่าเว็บไซต์ในโลกนี้ มีประมาณ 65% ที่ใช้ CMS และมีจำนวนมากถึง 43% ของเว็บไซต์บนโลกนี้ที่ใช้ WordPress ซึ่งเป็นจำนวน Market Share ที่สูงอย่างมากเลยทีเดียว เรียกว่ากลายเป็น standard CMS บน Web Platform ก็คงไม่ผิดนัก

รองลงมาจาก WordPress ก็เป็น Joomla! ซึ่งก็เป็น Open Source CMS ที่ดีอย่างมากเช่นกัน แต่อาจด้วยการใช้งานที่มีความเข้าถึงยากสำหรับผู้ใช้ทั่วไป จึงนิยมใช้สำหรับเว็บไซต์องค์กรที่มีขนาดใหญ่


ขอบคุณที่โลกนี้มี WordPress

หากคุณใช้ WordPress และอ่านมาถึงตรงนี้ ผมเชื่อว่าคุณจะอินและสนุกกับการเดินทางของ WordPress มากยิ่งขึ้น ทั้งหมดเกิดจากแนวคิดที่ Matt ต้องการแบ่งปัน อยากให้ทุกคนสร้างเว็บไซต์ได้ง่ายขึ้น ลดความซับซ้อน ไปจนถึงการสร้าง community ที่ทุกคนเต็มใจอาสาเข้ามาช่วยสนับสนุน

สุดท้ายนี้ ต่อหน้า WordPress และ Classic Editor ที่ข้าพเจ้าใช้อยู่ (เออ ขอโทษละกันที่ไม่ได้ใช้ Gutenberg) ขอขอบคุณ WordPress ที่ทำให้ผมมีเงินซื้อข้าวปลาอาหาร มีเงินแต่งเมีย ซื้อเกมมานั่งเล่น มีเพื่อนใน community ที่ชวนกันกินปิ้งย่างชาบูกันทุกเดือน เติบโตและเดินทางไปด้วยกันต่อไปนะ จุ้บๆ

A glasses man who builds websites, is interested finances and is extremely excited with new technology.